วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2563

ไม่มีประสบการณ์เรื่องการใช้ยาในสัตว์น้ำมาก่อน

ไม่มีประสบการณ์เรื่องการใช้ยาในสัตว์น้ำมาก่อน  และหากจำเป็นต้องใช้ยาเพื่อรักษาโรคปลา  ผมควรทำอย่างไรบ้างครับ

ตอบ : ขอแนะนำแบบฉบับย่อๆก่อนนะคะ

ควรตรวจวินิจฉัยโรค ก่อนตัดสินใจใช้ยา
เลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับโรค
ไม่ควรใช้ยาเพื่อการป้องกันโรค
ใช้ยาเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น
ควรใช้ยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับสำนักคณะกรรมการอาหารและยา
ไม่ควรใช้ยาในปริมาณที่สูงหรือต่ำกว่าปริมาณที่แนะนำให้ใช้ในฉลาก
เมื่อยามีเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไม่ควรนำยานั้นมาใช้
ไม่ควรเก็บยาไว้ในที่ชื้นหรือถูกแสงแดด
หยุดการใช้ยาก่อนการจับสัตว์น้ำอย่างน้อย 21-30 วัน หรือตามกำหนดที่ระบุในฉลากยา



ปัจจุบันยาต้านจุลชีพสำหรับใช้ในสัตว์น้ำที่ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีอะไรบ้างครับ

 ปัจจุบันยาต้านจุลชีพสำหรับใช้ในสัตว์น้ำที่ขึ้นทะเบียนตำรับยา  มีอะไรบ้างครับ

ตอบ : ตามข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  กระทรวงสาธารณสุข  ยาที่อนุญาตให้ใช้สำหรับสัตว์น้ำและเป็นยาต้านจุลชีพขึ้นทะเบียนรวม 272 ตำรับยา  แบ่งเป็น

ตำรับยาเดี่ยว 244 ตำรับ  มีตัวยาสำคัญ 7 ตัวยา  ได้แก่
แอมมอกซีซิลลิน ( Amoxicillin )
เอนโรโฟลซาซิน ( Enrofloxacin )
ออกซีเตตราซัยคลิน ( Oxytetracycline )
ซาราโฟลซาซิน ( Sarafloxacin )
ออกโซลินิคแอซิด ( Oxolinic  acid )
โทลทราซูริล ( Toltrazuril )
ซัลฟาโมโนเมททอกซีน  โซเดียม ( Sulfamonomethoxine  Sodium )
ตำรับยาผสม 28 ตำรับ  มีตัวยาสำคัญผสม 5 ชนิด  ได้แก่
ซัลฟาไดอาซีน+ไตรเมทโธพริม ( Sulfadiazine + Trimethoprim )
ซัลฟาไดเมททอกซิน  โซเดียม + ไตรเมทโธพริม ( Sulfadimethoxine+Trimethoprim )
ซัลฟาไดเมททอกซิน  โซเดียม+ออร์เมทโธพริม ( Sulfadimethoxine+Ormethoprim )
ซัลฟาโมโนเมททอกซิน  โซเดียม+ไตรเมทโธพริม ( Sulfamonomethoxine+Trimethoprim )
ซัลฟาไดมิดีน+Trimethoprim ( Sulfadimidine+Trimethoprim



ความหมายของสารฆ่าเชื้อ สารทำให้ปราศจากเชื้อ ยาต้านจุลชีพ ยาปฏิชีวนะ

 ความหมายของสารฆ่าเชื้อ  สารทำให้ปราศจากเชื้อ  ยาต้านจุลชีพ  ยาปฏิชีวนะ  และขอทราบว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไรด้วยครับ

ตอบ : ที่เหมือนกันเลย คือ ต่างก็มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคแตกต่างกันตามที่มา  วัตถุประสงค์และวิธีการใช้

สารฆ่าเชื้อ ( antiseptic ) คือ สารเคมีที่ทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลชีพที่ทำให้เกิดโรค (มีความจำเพาะต่อชนิดของเชื้อ) ใช้กับผิวหนังหรือเยื่อเมือกของสิ่งมีชีวิตและใช้ภายนอกร่างกายโดยไม่ทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อบริเวณนั้น เช่น แอลกอฮอล์ เป็นต้น
สารทำให้ปราศจากเชื้อ ( disinfectant ) คือ สารเคมีที่ใช้ฆ่าหรือทำลายจุลชีพและใช้กับสิ่งไม่มีชีวิต ( การออกฤทธิ์ไม่มีความจำเพาะต่อเชื้อ ) ใช้กับพื้นห้อง  เครื่องมือ  เครื่องใช้ เป็นต้น  เช่น โซเดียม  ไฮโปรคลอไรด์  บีเคซี เป็นต้น
ยาต้านจุลชีพ ( antimicrobial  drug ) หมายถึง ยาที่สามารถออกฤทธิ์ต่อจุลชีพ  รวมถึงยาปฏิชีวนะ ( เช่น เตตราซัยคลิน ) และยาที่ได้จากการสังเคราะห์ทางเคมี ( เช่น ซัลฟาโมโนเมททอกซิน ) ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโต  แบ่งตัว  หรือการมีชีวิตอยู่ของจุลชีพ
ยาปฏิชีวนะ ( antibiotic  drug) หมายถึง สารประกอบที่ผลิตหรือสร้างขื้นโดยจุลชีพ  เช่น แบคทีเรีย  รา  แอคทีโนมัยซีทีส  เป็นต้น )  สามารถไปยับยั้ง  ชะลอการเจริญเติบโต  หรือทำลายจุลชีพกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง






ยาที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีอะไรบ้าง

  ยาที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีอะไรบ้าง

ตอบ: เนื่องจากการดำเนินการใดๆเกี่ยวกับยาทั้งที่ใช้ในคนและในสัตว์ต่างๆยังอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน  คือ พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 กระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง พ.ร.บ.นี้ ได้บัญญัติความหมายของ “ยา” ไว้ในมาตรา 4 ดังนี้

(1)       วัตถุที่รับรองไว้ในตำรายา  ที่รัฐมนตรีประกาศ

(2)       วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการวินิจฉัย  บำบัด  บรรเทา  รักษา  หรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยของมนุษย์หรือสัตว์

(3)       วัตถุที่เป็นเภสัชเคมีภัณฑ์หรือเภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป หรือ

(4)       วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับให้เกิดผลแก่สุขภาพโครงสร้างหรือการกระทำหน้าที่ใดๆ ของร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์

วัตถุ (1) (2) หรือ (4) ไม่รวมถึง

(ก)      วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการเกษตรหรืออุตสาหกรรมตามที่รัฐมนตรีประกาศ

(ข)      วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นอาหารสำหรับมนุษย์  เครื่องกีฬา  เครื่องมือเครื่องใช้ในการส่งเสริมสุขภาพ  เครื่องสำอาง  หรือเครื่องมือ  และส่วนประกอบของเครื่องมือที่ใช้ในการประกอบโรคศิลปะหรือวิชาชีพเวชกรรม

(ค)      วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในห้องวิทยาศาสตร์สำหรับการวิจัย  การวิเคราะห์หรือการชันสูตรโรค  ซึ่งมิได้กระทำโดยตรงต่อร่างการมนุษย์

อย่างไรก็ตาม  ต่อมาได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ( ฉบับที่ 34 พ.ศ.2548  เรื่อง

วัตถุที่ได้รับการยกเว้นไม่เป็นยา ) ประกาศถึงวัตถุที่ได้รับยกเว้นไม่เป็นยาเพิ่มเติมดังนี้

(1)       วัตถุประเภทปรับปรุงคุณสมบัติน้ำและดินหรือจุลินทรีย์ที่มุ่งหมายสำหรับการใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์บก  หรือสัตว์น้ำ  โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้รักษาสภาพแวดล้อมของสัตว์ เช่น ปรับปรุงคุณภาพน้ำและดิน  บำบัดน้ำเสีย  หรือปรับสภาพแวดล้อมในฟาร์ม

(2)       วัตถุประเภทอาหารเสริมและสารผสมล่วงหน้า (พรีมิกซ์) ที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นอาหารเสริมสำหรับสัตว์ ดังต่อไปนี้

(ก)      จุลินทรีย์ที่ผสมกับอาหารสัตว์  ที่อยู่ในรูปสารผสมล่วงหน้า (premix) หรืออาหารสัตว์สำเร็จรูปทั้งนี้ให้รวมถึงจุลินทรีย์ที่มีวิธีใช้โดยการผสมน้ำให้สัตว์กินโดยตรง

(ข)      วิตามิน  แร่ธาตุ  เอ็นไซม์ หรือกรดอะมิโน ชนิดให้กินทางปากทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะผสมอยู่กับอาหารสัตว์  หรือน้ำ  หรือสื่ออื่น  หรือไม่ผสมก็ตาม

(3)       วัตถุประเภทฆ่าเชื้อ  และวัตถุอันตรายที่ใช้ในฟาร์มและบริเวณโดยรอบเพื่อฆ่าเชื้อใน

สิ่งแวดล้อม  หรือฆ่าเชื้อภายนอกตัวสัตว์  หรือฆ่าเชื้อในน้ำที่ให้สัตว์กิน  รวมทั้งใช้ปรับสภาพแวดล้อมสัตว์ด้วย

(4)       วัตถุประเภทสมุนไพรที่มีความมุ่งหมายสำหรับใช้ในวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

(ก)        เพื่อทำให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง  หรือปรับปรุงสมรรถนะการผลิต

(ข)        เพื่อเพิ่มการดูดซึมอาหาร

(ค)        เพื่อเพิ่มการย่อยอาหาร

(ง)         เพื่อปรุงแต่ง สี กลิ่น และ รส

(5)       วัตถุอื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(ก)        ใช้ทำความสะอาดโรงเรือน

(ข)        ใช้ทำความสะอาดตัวสัตว์  ปศุสัตว์ เช่น สบู่ หรือ แชมพู

(ค)        ใช้กำจัดปรสิตภายนอกตัวสัตว์  ที่มุ่งหมายสำหรับใช้ภายนอกตัวสัตว์  โดยไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ระบบหมุนเวียนโลหิตหรือของเหลวในร่างกายของสัตว์ได้










คำแนะนำในการใช้ยาอย่างถูกวิธี

คำแนะนำในการใช้ยาอย่างถูกวิธี

1. ต้องมีการวินิจฉัยโรคก่อน

2. เลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับโรค

3. ควรมีความรู้เรื่องยาที่ใช้

ความไวขอเชื้อต่อยา
การดื้อยา
4. ควรมีความรู้เกี่ยวกับสัตว์น้ำที่เป็นโรค เช่น

สุขภาพของสัตว์น้ำ
ประวัติการใช้ยา
5. มีการจัดการคุณภาพน้ำที่ถูกต้องควบคู่ไปด้วย

6. ใช้ยาเมื้อมีความจำเป็นเท่านั้น ไม่ใช้พร่ำเพรื่อ

7. ต้องใช้ยาตามเอกสารกำกับยา

8. หยุดใช้ยาตามระยะเวลาที่ระบุในใบกำกับยาก่อนการจับขาย

9. ควรใช้ยาตามที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

อย่า ใช้ยารักษาโรคที่ไม่สามารถรักษาได้เช่น โรคติดเชื้อไวรัส
อย่า ใช้ยาที่ออกฤทธิ์ครอบจักรวาลต่อเชื้อที่ก่อให้เกิดโรค
อย่าใช้ในปริมาณสูงกว่าหรือต่ำกว่าปริมาณแนะนำ
อย่า ใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน หลังจากสัตว์น้ำหายจากโรคแล้ว
อย่า ใช้ยาต้านจุลชีพ (ไวรัส) กับโรคติดเชื้อแบคทีเรีย
ตรวจสอบ สารเคมีและวัตถุอันตรายที่ขึ้นทะเบียนต่อกรมประมง View

ข้อควรระว้ง การใช้ ยาและสารเคมีต้องห้าม รวมถึงวัตถุอันตรายทางการประมงที่ไม่ขึ้นทะเยียน อาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ผูใช้ และระบบการผลิต รวมถึงอาจไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน







ยาต้านจุลชีพที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สำหรับสัตว์น้ำ

 ยาต้านจุลชีพที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สำหรับสัตว์น้ำ

จากการตรวจสอบฐานข้อมูลโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีทะเบียนตำรับยาต้านจุลชีขึ้นทะเบียน ได้รับอนุญาตให้ใช้สำหรับสัตว์น้ำ แบ่งเป็น ตำรับยาเดี่ยว (มีตัวยายาสำคัญ 7 ตัวยา) และตำหรับยาผสม (มีตัวยาสำคัญผสม 5 ชนิด) ดังนี้

 ตำรับยาเดี่ยว มีตัวยาสำคัญ 7 ตัวยา

  • Amoxicillin
  • Enrofloxacin  (เฉพาะปลาเท่านั้น)
  • Oxytetracycline
  • Sarafloxacin 
  • Oxolinic acid
  • Toltrazuril 
  • Sulfamonomethoxine Sodium



 ตำรายาผสม มีตัวยาสำคัญผสม 5 ชนิด

  • Sulfadiazine + trimethoprim
  • Sulfadimethoxine sodium + trimethoprim
  • Sulfadimethoxine sodium + ormethoprim
  • Sulfamonomethoxine + trimethoprim 
  • Sulfadimidine + trimethoprim

อ้างอิง หนังสือราชการ ที่ สธ 1010/4/1762 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 เรื่อง ขอให้พิจารณาห้ามใช้ยาต้านจุลชีพบางกลุ่มในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข